19
ธ.ค.
อุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ(Eco-Industry) หมายถึง สถานประกอบการอุตสาหกรรมในระดับต่างๆ ที่มีระบบอำนวยให้หน่วยกิจกรรมต่างๆ ในองค์กรสามารถบรรลุถึงความสำเร็จอย่างยั่งยืน (sustainability) ร่วมกัน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ (economy) และระบบนิเวศ (ecology) โดยอาศัยการสร้างระบบความสัมพันธ์แบบพึ่งพาในเชิงวัสดุและพลังงาน และจะต้องอาศัยการผูกโยงความสัมพันธ์ระหว่างกิจการที่มีความสอดคล้องกันในเชิงผลพลอยได้ของผลิตภัณฑ์
เป้าหมายร่วมของการดำเนินงานพัฒนานวัตกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศของ สนช. คือ การให้ความสำคัญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลก เช่นสภาวะโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีสาเหตุจากปรากฏการณ์เรือนกระจก (green house effect) และการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน ที่เป็นกระแสหลักของประชาคมโลกปัจจุบัน
ดังนั้น เพื่อตอบสนองเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น สนช. จึงได้พัฒนานวัตกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศใน 2 ด้าน ได้แก่ ด้านอุตสาหกรรมสะอาด (Clean Industry Platform) และด้านผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Products Platform) นอกเหนือจากอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ และธุรกิจนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ ที่ได้ดำเนินการผลักดันจนเป็นโครงการนวัตกรรม
ด้านอุตสาหกรรมสะอาด (Clean Industry Platform)
เป็นการพัฒนาเปลี่ยนแปลงปรับปรุงอย่างต่อเนื่องของผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต การบริการ และการบริโภค เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด นอกจากนี้ ยังเน้นการลดการใช้สารเคมีอันตราย ลดของเสียและของเหลือใช้ รวมไปถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดหรือบำบัดของเสียนั้นๆ โดยก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสี่ยงอันจะเกิดขึ้นต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะที่ยังต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ควบคู่กันไปด้วย
สนช. ได้กำหนดแผนการดำเนินงานในด้านอุตสาหกรรมสะอาด ภายใต้กลุ่มอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพลังงานทดแทนจากของเสีย การจัดการของเสียอย่างถูกวิธี การพัฒนานวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก อาทิ แสงอาทิตย์ ลม น้ำ เป็นต้น รวมถึงอุปกรณ์หรือกระบวนการที่ก่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรด้านพลังงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งในภาวะที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การรู้จักเลือกใช้เทคโนโลยีสะอาดที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมจึงเปรียบเสมือนเป็นการช่วย ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน
นอกจากนี้ สนช. ยังได้ร่วมมือกับกลุ่มพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มธุรกิจเอกชนและสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คำปรึกษาทางเทคโนโลยีและประเมินความเป็นไปได้ทางธุรกิจของโครงการนวัตกรรมในกลุ่มเทคโนโลยีสะอาด และผลักดันให้เกิดการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรม
ตัวอย่างโครงการในด้านอุตสาหกรรมสะอาดที่สำคัญ ได้แก่ โครงการระบบผลิตน้ำมันและไฟฟ้าด้วยกระบวนการไพโรไลซิส-แก๊สซิฟิเคชั่น โครงการระบบให้ความร้อนจาก ก๊าซชีวภาพสำหรับกกลูกสุกร เป็นต้น ซึ่งในปี พ.ศ. 2552 สนช. ได้ผลักดันให้เกิดการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสะอาดรวมทั้งหมด 11 โครงการ อาทิ โครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาด 2 กิโลวัตต์ชนิดเสาเดี่ยวร่วมโครงการระบบผลิตก๊าซเชื้อเพลิงร่วมจากเตาแก๊สซิไฟเออร์ชีวมวลและก๊าซชีวภาพเพื่อทดแทนการใช้ LPG โครงการเครื่องคาร์บอไนเซอร์ชีวมวล ฯลฯ รวมเป็นวงเงินสนับสนุน 8,690,300 บาท คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 246,768,000 บาท
เครือข่ายความร่วมมือ
– สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน (สนพ.)
– กลุ่มผู้ประกอบการด้านพลังงานทดแทน
ด้านผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Products Platform)
เป็นผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือการให้บริการรูปแบบใหม่ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ เทคโนโลยีการนำกลับมาใช้ใหม่ และการออกแบบเชิงเศรษฐนิเวศ (eco-design) มาเป็นเครื่องมือในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเชิงเศรษฐกิจ อันเป็นกระบวนการที่ผนวกแนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์และด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในขั้นตอนการออกแบบ การผลิต การนำไปใช้ และการกำจัดหลังการใช้งาน ซึ่งต้องอาศัยการประเมินวัฏจักรชีวิต (life cycle assessment) ของผลิตภัณฑ์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน นับว่าเป็นแนวทางการพัฒนาและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในอนาคต
สนช. ได้กำหนดแผนการดำเนินงานในด้านผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้กลุ่มอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลพลอยได้ในอุตสาหกรรมไม้ประกอบ กระดาษ สิ่งทอ และยางพารา เป็นหลัก เนื่องจากแนวโน้มธุรกิจนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลกมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากสภาพการขยายตัวของประชากรทั่วโลกในปัจจุบัน ทำให้เกิดการบริโภคสินค้า บริการ และการประกอบกิจกรรมต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การขาดแคลนทรัพยากร และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือยเกินขีดจำกัด ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นทางเลือกหลักที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคให้ความสนใจและให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก
ตัวอย่างโครงการในด้านผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ได้แก่ โครงการบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย โครงการเรือนไทยภาคใต้จากไม้พลาสติกคอมโพสิต เป็นต้น ซึ่งในปี พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา สนช. ได้ผลักดันให้เกิดการลงทุนในธุรกิจ
นวัตกรรมรวมทั้งหมด 3 โครงการ ได้แก่ โครงการวัฏจักรชีวิตกระดาษลดโลกร้อน โครงการ “C-AOSS” แนวป้องกันการกัดเซาะพื้นที่ป่าชายเลนจากไม้ประกอบพลาสติก และโครงการ “BPA-01” สารเติมแต่งลดปริมาณการปลดปล่อยสารฟอร์มาลดีไฮด์ในผลิตภัณฑ์ไม้ประกอบ รวมเป็นวงเงินสนับสนุนทั้งสิ้น 2,389,840 บาท คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 38,909,680 บาท